Monday, February 1, 2010

ชุดทดสอบตัวตรวจรู้ความเร่งและสวิตช์ความเร่ง

ศุภกิตติ์  พรหมวิกรณ์ นักศึกษาปริญญาโทที่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิตทางวิศวกรรมไฟฟ้า) ประสบความสำเร็จในการสร้างชุดทดสอบตัวตรวจรู้ความเร่งและสวิตช์ความเร่ง เมื่อวันศุกร์ที่ 29 มกราคม 2553   ชุดอุปกรณ์ประกอบด้วยคานหมุนสมดุลย์ซึ่งให้กำเนิดความเร่งหนีศูนย์กลางที่ปลายทั้งสองข้างเท่า ๆ กัน โดยที่ระดับความเร่งที่ได้จะขึ้นอยู่กับความเร็วในการหมุนของคาน ซึ่งหมุนขับด้วยมอเตอร์กระแสตรงควบคุมโดยบอร์ดไมโครคอนโทรลเลอร์ด้วยเทคนิคการมอดูเลตความเร็วด้วยความกว้างของพัลส์ (PWM)  ที่ปลายด้านหนึ่งของคานหมุนจะมีตัวตรวจรู้ความเร่งเชิงพาณิชย์ติดตั้งอยู่เพื่อรายงานค่าความเร่งออกมาในรูปแรงดันไฟฟ้ากระแสตรงซึ่งจะถูกไมโครคอนโทรลเลอร์ที่อยู่บริเวณกึ่งกลางของคานหมุน แปลงให้เป็นข้อความตัวอักษรตามมาตรฐาน RS-232 แล้วส่งข้อมูลไปยังไมโครคอมพิวเตอร์ผ่านทางชุดต่อสัญญาณพิเศษที่ออกแบบให้ส่งผ่านสัญญาณจากคานหมุนไปยังฐานที่อยู่นิ่งได้ (หลักการคล้ายแปรงถ่านของมอเตอร์กระแสตรง) ส่วนที่ปลายอีกข้างหนึ่งของคานหมุนจะติดตั้งตัวตรวจรู้ความเร่งหรือสวิตช์ความเร่งที่ต้องการทดสอบ ถ้าอุปกรณ์ที่ต้องการทดสอบเป็นสวิตช์ความเร่ง สถานะ "ON" หรือ "OFF" ของสวิตช์จะถูกส่งไปยังบอร์ดไมโครคอนโทรลเลอร์และถูกแปลงเป็นข้อความตัวอักษรตามมาตรฐาน RS-232 ร่วมกับข้อมูลค่าความเร่งจากตัวตรวจรู้เชิงพาณิชย์ นอกจากนี้ เมื่อสถานะของสวิตช์ความเร่งถูกเปลี่ยนไปเป็น "ON" บอร์ดไมโครคอนโทรลเลอร์จะกระตุ้นให้เกิดเสียงเตือนดังขึ้นอีกด้วย
          ชุดทดสอบดังกล่าวสร้างขึ้นเพื่อทดสอบและปรับเทียบมาตรฐานตัวตรวจรู้ความเร่งจุลภาคและสวิตช์ความเร่งจุลภาคที่สร้างขึ้นด้วยกระบวนการเอ็กซ์เรย์ลิโธกราฟฟีด้วยแสงซินโครตรอน ณ  สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน)


ขอรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ดร.นิมิต  ชมนาวัง
เว็บไซต์: http://sites.google.com/site/sutmems
อีเมล์: sut.mems@gmail.com

คำสำคัญ:
ตัวตรวจรู้ความเร่ง, สวิตช์ความเร่ง, เครื่องกำเนิดความเร่ง, เมมส์, ลิก้า, ซินโครตรอน, เอ็กซ์เรย์ลิโธกราฟฟี, ห้องปฏิบัติการระบบกลไฟฟ้าจุลภาค มทส., วิศวกรรมไฟฟ้า มทส., สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน)

No comments:

Post a Comment